
ป้ายกำกับ
oHLa’s Journal :: เนื้องอกมดลูก เรื่องใกล้ตัวที่สาวๆไม่ควรมองข้าม
เมื่อพูดถึง “เนื้องอก” หลายคนมักตื่นตกใจ
เพราะมักจะมีความคิดเชื่อมโยง “เนื้องอก” ไปกับ “โรคมะเร็ง”
ซึ่งความคิดนี้ใช้ไม่ได้เสมอไป
เพราะเนื้องอกนั้นมีทั้งแบบที่ไม่อันตราย และแบบที่อันตราย
ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตของก้อนเนื้อ และความผิดปกติของเซลล์นั้นๆด้วย
สำหรับบล็อกนี้เก๋จะมาเขียนเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเอง
และข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณมดลูกให้เพื่อนๆได้อ่านเป็นข้อมูลความรู้กันนะคะ
–
myoma uteri หรือ uterine fibroid คือชื่อเฉพาะทางการแพทย์ที่ใช้เรียกเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณมดลูก
เนื้องอกชนิดนี้สามารถพบได้ใน 25-30% ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ก็คือวัยที่มีประจำเดือน
นับตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนไปจนกระทั่งวัยหมดประจำเดือนกันเลย
การเกิดเนื้องอกชนิดนี้นั้นยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่ามาจากสาเหตุใด
ส่วนใหญ่แล้วจะพบในผู้หญิงตั้งแต่ช่วงวัย 30-50 ปี
–
เนื้องอกมดลูกนั้นแบ่งตามพื้นที่ที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด 4 แบบ คือ
subserosal, intramural, submucosal, pedunculated myoma

photo cr. myoma.co.uk
subserosal myoma – เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก
intramural myoma – เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก (พบได้บ่อยที่สุด)
submucosal myoma – เนื้องอกที่โพรงมดลูก
pedunculated myoma – เนื้องอกชนิดที่มีก้านยื่นเชื่อมติดกับมดลูก
–
สาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูก
สมมติฐานหนึ่งจากการศึกษาข้อมูลในทางการแพทย์ การพูดคุยกับผู้ชำนาญการที่เกี่ยวข้องในด้านนี้
และผลลัพธ์หลังจากการฉีดยานี้ เป็นไปได้ว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนนั้นส่งผล
และอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เนื้องอกมดลูกเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
นอกจากนี้การสืบทอดทางพันธุกรรมก็อาจจะเป็นอีกเหตุหนึ่งด้วยเช่นกัน
–
ตรวจพบเนื้องอกด้วยความบังเอิญ
เรื่องของเรื่องเก๋อาจจะไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่าตัวเองมีเนื้องอกอยู่ที่บริเวณมดลูก ถ้าไม่ได้ไปพบคุณหมอเพื่อตรวจความพร้อมก่อนมีบุตร
ซึ่งในการตรวจความพร้อมก่อนมีบุตรนั้น นอกเหนือจากจะต้องตรวจปัสสาวะ เจาะเลือด เอ็กซเรย์ปอดแล้ว
คุณหมอก็อาจจะให้เราอัลตราซาวน์เพื่อตรวจความปกติของมดลูกด้วย
เมื่ออัลตราซาวน์แล้วพบก้อนเนื้องอกที่บริเวณกล้ามเนื้อมดลูก
คุณหมอก็ส่งให้ไปทำ CT scan บริเวณครึ่งตัวล่าง เพื่อดูตำแหน่งที่แน่ชัด และขนาดของเนื้องอก
โชคดีว่าเก๋ไม่ได้แพ้อาหาร หรือยาอะไร เจ้าหน้าที่จึงนัดคิวสแกนได้ในวันถัดมา
..ได้ยินมาจากคุณพยาบาลว่าปกติคิวนัดที่โรงพยาบาลนี้ค่อนข้างแน่นมาก
คนไข้ต้องรอคิวเกือบเดือนถึงจะได้สแกน..
–
ประสบการณ์ทำ CT scan ครึ่งตัว
เราจะต้องงดอาหารก่อนทำ CT scan อย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง และจะต้องอั้นปัสสาวะด้วย
เมื่อไปถึงที่แผนกรังสีฯ เราก็ต้องเปลี่ยนชุดเพื่อเตรียมพร้อมเข้ารับการตรวจ และพยาบาลจะมาเจาะเลือดให้เรา
พอถึงคิวตรวจคุณพยาบาลและเจ้าหน้าที่รังสีฯจะให้ขึ้นไปนอนบนเตียง พร้อมกับให้ดื่มน้ำสีเขียวๆอีกแก้วใหญ่
ฉีดสีเข้าเส้นเลือด และสวนทวารด้วยน้ำเข้าไปอีก (กี่ซีซีจำไม่ได้?)
ตอนนั้นดื่มน้ำได้ครึ่งแก้วก็หันไปบอกพยาบาลว่าไม่ไหวแล้ว
ถ้าให้ดื่มอีกต้องวิ่งเข้าห้องน้ำแน่ๆ เพราะนี่ก็ปวดฉี่มากๆ
สุดท้ายต่อรองคุณพยาบาลไปได้นิดนึง จากดื่มน้ำ 1 แก้วใหญ่ เหลือแค่ 3/4 ของแก้ว
จังหวะเดียวกับน้ำที่ถูกสวนเข้าไปก็เริ่มบวมเป่งเต็มพุง
เจ้าหน้าที่ก็ทยอยออกไปจากห้องเอ็กซ์เรย์ ปล่อยให้เรานอนมวนท้อง
พุงบวมอยู่บนเตียงที่มีอุโมงค์ทะลุมิติแบบในภาพครอบอยู่ครึ่งตัว
–

photo cr. cancer.org
–
จากนั้นก็ต้องคอยฟังคำสั่งการหายใจเป็นจังหวะตามเสียงจากลำโพง
“หายใจเข้า.. หายใจออก.. กลั้นใจ”
วนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่แน่ใจว่ากี่รอบ
แต่ความรู้สึกตอนนั้นมันช่างนานเหลือเกิน
ที่สำคัญคือคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้นไปไวกว่าลมหายใจของเรามาก
เทียบกันก็เหมือน big bike กับ จักรยานเฟสสัน นั่นล่ะ
เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ภาพเอ็กซเรย์ที่น่าพอใจแล้วเรารีบขอตัวไปเข้าห้องน้ำทันที
ย้ำว่าเร่งด่วนที่สุด!!! ต้องเข้าเดี๋ยวนั้นเท่านั้น!!!
…………….. พอทำธุระเสร็จก็โล่งสบายมาก ……………
–
นัดฟังผลเอ็กซเรย์
มาถึงวันนัดฟังผลคุณหมอเจ้าของไข้ดูฟิล์มแล้วบอกกับเราว่ามีก้อนเนื้อทั้งหมด 2 ก้อนที่กล้ามเนื้อมดลูก
ก้อนนึงกดทับกระเพาะปัสสาวะ และอีกก้อนเบียดอยู่ด้านหลังมดลูก
ทั้งสองก้อนมีขนาดประมาณ 6-7 ซ.ม.
ส่วนการตรวจเลือด ตรวจโรคต่างๆนั้นผ่านฉลุย ปกติดีทุกอย่าง
คุณหมอแนะนำว่าควรผ่าตัดเอาก้อนเนื้อนี้ออกก่อนเพื่อที่ว่าจะได้ไม่รบกวนการตั้งครรภ์ในอนาคต
ระหว่างที่รอคิวผ่าตัดก็ให้ฉีดยา Leuprorelin Acetate เพื่อช่วยลดขนาดของก้อนเนื้อด้วย
คุณหมอบอกว่า “ผลข้างเคียงของการฉีดยานี้จะทำให้ประจำเดือนหยุดไปประมาณ 2-3 เดือน
และจะส่งผลให้อารมณ์แปรปรวนและมีอาการร้อนวูบวาบ”
… ฟังแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่
เราเลยถามย้ำกับคุณหมอไปว่า “ร้อนวูบวาบคืออะไรคะ?
หมายถึงตัวร้อนเป็นพักๆเหรอคะ?”
คุณหมอยิ้มบางๆพร้อมหันมาทางคุณสามีและตอบว่า
“ตัวร้อนก็ใช่ครับ คืออาการทุกอย่างจะเหมือนคนวัยหมดประจำเดือนน่ะครับ”
พร้อมกับแววตาที่ดูเป็นห่วงเป็นใยหัวอกผู้ชายที่ต้องเผชิญกับอาร์ตตัวแม่
จุดนั้นเกรงใจคุณหมอสุดๆ ได้แต่คิดในใจว่า
“คุณหมอคะ ….. xqwfr2^&#$$@*#”
–
สัญญาณเตือนของร่างกาย
อาการต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น ท้องอืด ท้องบวมโต
อาการปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ
มีประจำเดือนมาก หรือตกขาวมากผิดปกติ
ปวดปัสสาวะกลางดึกบ่อยๆ แต่กลับมีปัสสาวะค่อนข้างน้อย
หรือแม้แต่การปวดเมื่อเพศสัมพันธ์
อาการเหล่านี้เชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนมักจะคิดไม่ถึงว่าเป็นสัญญาณเตือนของร่างกาย
ที่พยายามบอกกับเราว่ามีอะไรผิดปกติกำลังเกิดขึ้นนะ
–
อย่างตัวเก๋เองพอคุณหมอบอกตำแหน่งของเนื้องอกปุ๊บ
มันทำให้เราได้คำตอบกับตัวเองว่าทำไมช่วง 2-3 เดือนก่อนนี้เราถึงปวดฉี่ตอนดึกบ่อยๆ
และทำไมช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเราถึงมีอาการปวดสะโพกและบั้นเอวอยู่เรื่อยๆและไม่มีทีท่าว่าจะหายซักที
ตอนแรกที่มีอาการปวดปัสสาวะบ่อยๆก็แอบคิดว่าคงมีน้องแล้วแน่ๆ
แต่พอใช้แผ่นตรวจครรภ์ทีไรก็ขึ้นขีดเดียวตลอด ..
ถ้าเพื่อนๆมีอาการพวกนี้แล้วไม่แน่ใจ แนะนำให้ไปให้คุณหมอตรวจดูนะคะชัวร์สุด
–
ทางเลือกในการรักษาเนื้องอกมดลูก
การรักษาเนื้องอกมดลูกนั้นสามารถทำได้หลายวิธี
ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของเนื้องอก ความรุนแรงและผลข้างเคียงที่มี
รวมไปถึงอายุและความต้องการมีบุตรของคนไข้
วิธีการรักษาก็มีได้ตั้งแต่การทานยาและเฝ้าสังเกตอาการ ไปจนถึงการผ่าตัด
หรือแม้แต่การใช้เลเซอร์เข้ามาช่วยสลายเนื้องอกนั้นออกไป
ซึ่งต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลและเป็นผู้แนะนำเท่านั้น
ในส่วนของการรักษาแบบทางเลือกอย่างพวกการใช้สมุนไพร
หรือการฝังเข็มนั้นยังไม่มีการศึกษาและข้อมูลหลักฐานที่พิสูจน์ว่าได้ผลจริง
–

ยาที่ฉีด คือ Leuprorelin Acetate คุณพยาบาลฉีดให้ที่สะโพก มือเบาสุดๆ แทบไม่รู้สึกเลย
–
ผลข้างเคียงหลังจากฉีดยา Leuprorelin Acetate
หลังจากที่ฉีดยาไปในเดือนแรกนั้นประจำเดือนยังมาปกติ แต่พอขึ้นเดือนที่ 2 และ 3 ก็จะไม่มีประจำเดือน
จิตตกเป็นพักๆ ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเป็นวูบๆ จากปกติเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเหงื่อ และตัวไม่ร้อน
ก็กลายเป็นคนที่ตัวร้อนมาก ร้อนจนนอนไม่ได้ต้องเอา cooling pack มาคอยแปะประคบให้ตัวเย็นลง
เพิ่มเติมจากข้อมูลบนเวปไซต์ทางการแพทย์บอกว่ายาตัวนี้มีผลข้างเคียงต่อการเสื่อมสภาพของกระดูกด้วย
ฉะนั้นแนะนำว่าไม่ควรใช้ยานี้ต่อเนื่องเกิน 6 เดือน
–
1 เดือนก่อนผ่าตัด
มีนัดอัลตราซาวน์อีกครั้ง เพื่อดูขนาดของก้อนเนื้อ
ปรากฏว่าก้อนเนื้อทั้งสองก้อนนั้นมีขนาดลดลงเฉลี่ยก้อนละประมาณ 1 ซ.ม. ถือว่าเป็นน่าพอใจ
หลังจากนั้นก็นัดตรวจกับวิสัญญีแพทย์ และแพทย์อายุกรรมเพื่อประเมินปริมาณยาสลบที่ต้องใช้
และตรวจความพร้อมของร่างกายก่อนผ่าตัด
–
1-2 วันก่อนผ่าตัด
ก่อนผ่าตัดเราจะต้องไปเจาะเลือดเพื่อจองเลือดไว้ใช้ในการผ่าตัด
และคืนก่อนผ่าตัดจะต้องเหน็บยาไว้ที่ช่องคลอดเพื่อให้มดลูกอ่อนตัว จะช่วยให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
–

คู่มือการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดและยา cytotec สำหรับเหน็บช่องคลอด

ถึงจะเป็นคนไข้เราก็ต้องไม่หยุดสวย เตรียมครีมบำรุงต่างๆไปให้พร้อม
–
วันผ่าตัด
คุณหมอนัดผ่าตัด 5 โมงเย็น แต่เราต้องงดข้าว งดน้ำตั้งแต่ 9 โมงเช้าเป็นอะไรที่ยาวนานมาก
เริ่มตั้งแต่การฝ่ารถติดในเช้าวันศุกร์เพื่อไปโรงพยาบาลให้ทันเวลานัด
พอไปถึงก็ไปเตรียมตัวในห้องพักผู้ป่วยในช่วงที่รอคุณพยาบาลก็จะคอยมาวัดความดัน และวัดอัตราการเต้นของหัวใจเป็นระยะๆ
ก่อนผ่าตัดก็จะต้องสวนทวารเพื่อให้ถ่ายของเสียออกมาให้หมด โกนขน แล้วอาบน้ำฟอกตัวด้วยสบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียให้เรียบร้อย
พอถึงเวลาก็จะมีเจ้าหน้าที่มาเข็นเตียงพาเราไปที่ห้องรอผ่าตัด ถึงตอนนั้นก็จะต้องฉีดยาและเจาะให้น้ำเกลือ
–
ช่วงที่ตื่นเต้นที่สุดคือตอนที่เข้าห้องผ่าตัด
บรรยากาศห้องผ่าตัดนี่เหมือนกับเราหลุดเข้าไปอยู่ในหนังวิทยาศาสตร์ยังไงยังงั้น
พอจัดท่านอนเรียบร้อยแล้วผู้ช่วยฯก็จะให้เราดมยาสลบ ดมไปประมาณ 5-6 ลมหายใจก็ไม่รู้สึกตัวแล้ว
พอตื่นมาอีกทีก็ผ่าตัดเรียบร้อย ได้ยินเสียงคุณพยาบาลเรียกชื่อเราอยู่ตรงปลายเตียง
พอเราได้สติสักพักเจ้าหน้าที่ก็เข็นเรากลับไปที่ห้องพักผู้ป่วย
–

คุณหมอเจาะพุงทั้งหมด 4 รู ช่องที่ใหญ่ที่สุดคือสะดือ เพราะเป็นจุดที่ปั่นเนื้องอกออกมา
–
พักฟื้น
หลังจากนั้นคุณหมอก็ให้พักที่โรงพยาบาลอยู่อีก 2-3 วัน
ในช่วงวันแรกยังต้องให้น้ำเกลือและทานแต่อาหารอ่อนอยู่
พอขึ้นวันที่ 2 ก็เริ่มทานอาหารหนักได้มากขึ้น อย่างพวกข้าวต้มทานคู่กับกับข้าวอื่นๆและผลไม้
ส่วนแผลผ่าตัดนั้นยังคงถูกแปะพลาสเตอร์กันน้ำเอาไว้อีกกว่า 10 วัน
ถึงวันที่คุณหมอนัดกลับมา follow up และฟังผลชิ้นเนื้อค่อยแกะออก
ช่วงแรกๆที่กลับมาบ้านอาจจะยังเดินลำบากนิดหน่อย เพราะจะมีอาการเจ็บแผลบ้าง
ซึ่งคุณหมอก็จะให้ยาแก้ปวด ยาฆ่าเชื้อ และยาลดแก๊สในกระเพาะอาหารกลับมาทานด้วย
เราก็มีหน้าที่ทำตามที่คุณหมอบอก คือทานยาให้ตรงเวลาและต่อเนื่องจนครบ
การผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องนั้นร่างกายจะฟื้นตัวเร็วมาก
–
สำหรับตัวเก๋เองแค่ประมาณ 1 สัปดาห์นับจากวันที่ผ่าตัดก็ทำกิจกรรมได้ตามปกติ
เดินขึ้นลงบันได ทานอาหาร ฯลฯ เหมือนปกติทุกอย่าง
หลังจากนั้นนัด follow up กับคุณหมออีกครั้งทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี
คุณหมอบอกว่าเป็นเนื้องอกมดลูกปกติ (leiomyoma) ผ่าตัดแล้วก็หาย
ส่วนฤทธิ์ยา Leuprorelin Acetate ที่เคยฉีดไว้ก็น่าจะหมดในเดือนหน้า
(ถ้านับคร่าวๆก็แสดงว่าฤทธิ์ยาอยู่ได้ประมาณ 3-4 เดือน)
ประจำเดือนก็น่าจะมาตามปกติ และอาการร้อนวูบวาบก็จะหายไปเอง
…
บอกสาวๆรอบตัวที่คุณรัก
ถ้าสงสัยว่าอาจจะเป็นเนื้องอกให้ไปหาหมอเลยนะคะ ไม่น่ากลัวค่ะ ^^
…
– หวังว่าบล็อกนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆนะคะ –
Pingback: oHLa’s Journal :: บันทึกมนุษย์แม่ ตอนที่ 1 กว่าจะท้อง | oHLaLive.com