oHLa’s Journal :: Wedding Diary 2 รูปแบบงาน จำนวนแขก และ scope งานแต่งงาน

confetti-wedding-ceremony-exit-ideas

บล็อกนี้เรามาคุยกัน 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันแบบขั้นสุด ทั้งเรื่องของรูปแบบงาน สถานที่ และจำนวนแขกในการจัดงานแต่งงาน

ประเพณีนิยมในปัจจุบันจะแบ่งงานออกเป็น 2 ช่วงหลักๆ คือ งานพิธีเช้า และงานเลี้ยงค่ำ

ซึ่งงานรูปแบบพิธีช่วงเช้านี่ก็โดยมากจะยึดตามธรรมเนียมของครอบครัวบ่าวสาวและความเชื่อทางศาสนาเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นพิธีแบบไทยพุทธ พิธีแบบยกน้ำชาแบบจีน หรือจะเป็นพิธีในโบสต์ของชาวคริสต์ หรือพิธีแบบชาวมุสลิม คร่าวๆที่เคยเห็นในไทยก็มีประมาณนี้

ส่วนที่นิยมและเห็นบ่อยๆก็มีอยู่ 2 แบบหลักๆ คือพิธีแบบไทยพุทธ และพิธียกน้ำชาแบบจีน

พิธียกน้ำชา

10 ขั้นตอนหลักตามพิธีแบบจีน by ที่รักสตูดิโอ

รายละเอียดและข้อปฏิบัติในพิธีแต่งงานแบบจีน นั้นมีอยู่มาก ซึ่งที่หยิบยกมานี้เป็นพิธีแต่งงานแบบจีนแต้จิ๋วซึ่งเน้นหลักสำคัญของพิธี ที่ต้องปฏิบัติให้ครบ แต่อาจแตกต่างกันบ้างในบางรายละเอียด

1.เริ่มต้นด้วยการสู่ขอ ฝ่ายชายจัดหาซินแสผูกดวงกำหนด ฤกษ์ยาม ตั้งแต่ฤกษ์หมั้น ฤกษ์ตัดชุด ฤกษ์ปูเตียง ไปจนถึงฤกษ์รับตัวเจ้าสาว

2.ฝ่ายชายจัดเตรียมของหมั้น ได้แก่ เงินสินสอด ( ถ้าฝ่ายหญิงมีอากง อาม่าอยู่ ต้องจัดเงินอั่งเปาซองแดงให้ด้วย ) ทองหมั้นนิยมเป็นเครื่องประดับ 4 อย่างคือ สร้อย กำไล ต่างหู และแหวน ยังมีเครื่องประกอบเช่น ผลไม้ ขนม ชุดหมู และของเซ่นไหว้ 2 ชุด ผลไม้ที่นิยมใช้คือ ส้มเช้งเขียว กล้วยเขียวทั้งเครือ จะใช้จำนวนคู่และติดตัวหนังสือซังฮี้ ส่วนขนมหมั้นได้แก่ จันอับ ขนมเหนียวเคลือบเงา ขนมเปี๊ยะโรยงา ถั่วตัด ข้าวพองทึบ โก๋อ่อน เสริมด้วยซาลาเปา พกท้อ และคุกกี้

3.ฝ่ายหญิงจัดเตรียมของพิธีหมั้น ได้แก่ แหวนสำหรับมอบให้เจ้าบ่าว เอี๊ยมแดง ซึ่งมีกระเป๋าให้ใส่เมล็ดธัญพืช 5 อย่าง เหรียญทองลายมังกร ต้นซุงเฉ้า เสียบปิ่นยู่อี่ที่ปากกระเป๋าเอี๊ยม และมีสร้อยทองคล้องที่สายเอี๊ยม

4.เมื่อถึงฤกษ์หมั้น ฝ่ายชายยกขบวนมามอบสินสอด ทองหมั้นสวมแหวนและเครื่องประดับให้เจ้าสาว เสร็จพิธีคู่บ่าวสาวและแขกรับประทานขนมอี้ จากนั้นแบ่งขนมหมั้นให้กับญาติทั้งสองฝ่าย

5.เช้าวันแต่งงาน เจ้าสาวสวมชุดใหม่สวยงาม เสียบปิ่นยู่อี่ และประดับใบทับทิมที่ผม เมื่อใกล้ถึงฤกษ์ เจ้าสาวจะทานอาหารกับครอบครัว

6.เมื่อถึงเวลาเจ้าบ่าวมารับตัว บางบ้านอาจมีการกั้นประตูในช่วงนี้ จากนั้นทั้งคู่ไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพเจ้าเตาไฟ และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาว (หากอาม่า อากง ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไหว้ท่านก่อนยกน้ำชาให้พ่อแม่เจ้าสาว)

7.ก่อนออกจากบ้าน คู่บ่าวสาวต้องทานขนมอี้ จากนั้นพ่อส่งเจ้าสาวไปกับเจ้าบ่าว โดยมีญาติผู้ชายของเจ้าสาวถือตะเกียงเซฟ และกระเป๋าซึ่งบรรจุสมบัติส่วนตัวไปด้วย

8.เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าว ทั้งคู่ต้องไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ รวมทั้งไหว้เทพเจ้าเตาไฟ และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าบ่าว จากนั้นยกน้ำชาให้พ่อแม่เจ้าบ่าวและญาติผู้ใหญ่ เสร็จ แล้วคู่บ่าวสาวกินขนมอี้

9.ฤกษ์เข้าหอ การปูเตียงต้องมีฤกษ์ เมื่อผู้ใหญ่ปูเสร็จต้องวางส้มไว้ที่มุมเตียง และอีก 4 ผลวางใส่จานที่มีตัวซังฮี้และใบทับทิมนำไปวางกลางเตียง

10.เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าสาวต้องยกน้ำล้างหน้าให้พ่อแม่สามีเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นน้องชายเจ้าสาวมารับทั้งคู่กลับไปกินข้าวที่บ้านฝ่ายหญิง ถือเป็นอันเสร็จพิธีแต่งงาน

เมื่อยังเด็กตอนที่คุณอาแต่งงาน เค้าก็จัดพิธีแบบจีนเครื่องขันหมากแบบจีนๆที่มาสู่ขอก็จะเป็นพวกขนมและผลไม้มงคลแบบจีน ที่จำได้แม่นที่สุดคือมีแป้งทอดลูกใหญ่ๆกลมๆซึ่งขนาดใหญ่มาก ขนาดเส้นผ่าศุนย์กลางประมาณฟุตครึ่งเห็นจะได้ แล้วก็มีพวกส้มเช้ง ขนมจุกจิกอื่นๆ ถ้าใครคิดจะจัดพิธีแบบจีนก็แนะนำให้ลองไปเดินหาข้อมูลและสิ่งของต่างๆในย่านเยาวราช จำได้ว่าเคยเห็นร้านขายของใช้ในงานแต่งแบบจีนอยู่เยื้องๆกับวัดเล่งเน่ยยี่ มีให้เลือกหลายร้านอยู่เหมือนกัน ร้านพวกนี้ส่วนมากจะขายกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด เพราะฉะนั้นเรื่องพิธีรีตองเค้าจะเป๊ะๆไม่ตกหล่น สำหรับเก๋เองลองเช็คๆดูแล้วคงจะลงตัวที่พิธีแบบไทยพุทธ คือ ตักบาตร หมั้น สู่ขอ แล้วก็รดน้ำ พยายามจะให้ถูกต้อง ง่ายและกระชับมากที่สุด

375

สำหรับใครที่ต้องการอ่านข้อมูลพิธีไทยเพิ่มเติมลองอ่านข้อมูลการแต่งงาน by อสมท. ตามด้านล่างนี้นะคะ

การแต่งงาน ในความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายความว่า “การทำพิธีเพื่อให้ชายหญิง อยู่กินเป็นผัวเมียกันตามประเพณี” การแต่งงานถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวของมนุษย์ในสังคม ผู้ที่จะมีครอบครัวได้ ก็คือ ชายหญิงที่อยู่ในวัยอันสมควร ที่จะเป็นสามีภริยากันได้ โดยชอบด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี และตัวบทกฎหมายของสังคม ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคตามสมัย ทำให้พิธีการแต่งงาน มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป ตามคตินิยมของแต่ละท้องถิ่น

         สำหรับผู้ที่มีชื่อเสียงและกำลังทรัพย์ อาจจะจัดพิธีแต่งงานใหญ่โต ให้หรูหราสมฐานะอย่างไรก็ได้ แต่ในสภาพเช่นปัจจุบัน เชื่อว่าหนุ่มสาวหลายคู่ คงจะคำนึงถึงพิธีที่คงความถูกต้องตามประเพณี ขณะเดียวกัน ก็มีความเรียบง่ายและประหยัด สอดคล้องกับสภาพสังคม และสภาวะเศรษฐกิจในยุคนี้มากกว่า ซึ่งในที่นี้จะขอเสนอแนวทางปฏิบัติ อันเนื่องด้วยการแต่งงาน ในทางที่ชอบด้วยประเพณี และตัวบทกฎหมายของไทย โดยตัดความสิ้นเปลืองออกไป คงไว้แต่สาระสำคัญของการจัดงาน ที่จำเป็นตามขั้นตอนดังนี้

          1. เริ่มจากการสู่ขอ ซึ่งเป็นเบื้องต้น

           ของประเพณีแต่งงานของสังคมไทย ถือเป็นเรื่องสิริมงคลของชายหญิง ที่จะเป็นสามีภริยากัน และเป็นการให้เกียรติแก่ฝ่ายหญิงด้วยการสู่ขอมี 2 ขั้นตอน คือ การทาบทามและการสู่ขอ การทาบทาม เป็นการเริ่มต้นของการสู่ขอโดยฝ่ายชาย จัดผู้ใหญ่ที่นับถือเป็น “เฒ่าแก่ทาบทาม” ไปทาบทามกับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง เมื่อฝ่ายหญิงไม่ขัดข้อง ก็จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับสินสอดทองหมั้น ตลอดจนกำหนดวันเวลา ที่ฝ่ายชายจะมาสู่ขอต่อไป ส่วนการสู่ขอเป็นการยืนยันว่า ยอมรับข้อตกลงพร้อมทั้งหารือเรื่องพิธีหมั้น พิธีแต่งงาน หรือฤกษ์ยามกันต่อไป

 2. การแห่ขันหมาก เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีการแต่งงาน ของคนไทยในภาคกลาง โดยถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เมื่อมีการทาบทามฝ่ายหญิงเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายชายจะมีการแห่ขันหมากมา เพื่อทำพิธีหมั้นฝ่ายหญิง และนำไปสู่การรดน้ำ และส่งตัวบ่าวสาว จึงถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงานของคนไทย ในขบวนขันหมากนำด้วย ขบวนการร่ายรำประกอบขบวนกลองยาวเถิดเถิงอย่างสนุกสนาน และตามด้วยขันต่าง ๆ 2 ขัน ดังนี้

          2.1. ขันหมากหมั้น ประกอบด้วย

          – ขันหมากเอก บรรจุหมากพลู ซึ่งถือว่าเป็นของใช้ประจำบ้านของคนไทยในอดีต

          – ขันหมากโท บรรจุวัตถุมงคล อาทิ ข้าวเปลือก ถั่ว งา ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ยอดและดอกของดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเจริญงอกงาม ความรักและการอยู่ร่วมกัน อย่างสงบสุขสมบูรณ์

          2.2. ขันของหมั้น บรรจุของหมั้นต่างๆ

          เช่น เงิน ทอง แก้ว แหวน เงินสดค่าสินสอด และตามด้วยพานผ้าไหว้ และของขวัญสำหรับพ่อแม่ฝ่ายหญิง

          เมื่อขบวนแห่ขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายหญิง เพื่อนฝ่ายหญิงจะตั้งประเงิน ประตูทอง กั้นขบวนขันหมาก ถ้าฝ่ายชายจะผ่านต้องจ่าย   ค่าผ่านประตูเงิน ประตูทอง จึงเข้าสู่พิธีหมั้น และทำพิธีหมั้นตามประเพณี จึงถือว่าเป็นอันจบขบวนแห่ขันหมากอย่างสมบูรณ์

 3. พิธีหมั้น เป็นการมอบสิ่งของให้ฝ่ายหญิง เพื่อแสดงความมั่นหมายว่า จะแต่งงานด้วย ปัจจุบันการหมั้น ส่วนใหญ่นิยมใช้แหวนเป็นของหมั้น และพิธีหมั้นก็มีเพียงชายสวมแหวนหมั้น ให้แก่ฝ่ายหญิงต่อหน้าเฒ่าแก่ และญาติผู้ใหญ่ ของทั้งสองฝ่าย ที่มาเป็นสักขีพยาน และมีการเลี้ยงกันเล็กน้อย ก็เป็นเสร็จพิธีหมั้น ในกรณีที่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย คุ้นเคยไว้เนื้อเชื่อใจกันดีอยู่แล้ว จะเหลือไว้แต่การแต่งงาน และการจดทะเบียนสมรสเลยก็ได้

          4. ขั้นตอนต่อมา เป็นการจัดพิธีแต่งงาน ในอดีตจะจัด 2 วัน เรียกว่า วันสุกดิบ และวันแต่งงาน แต่โดยสภาพภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน นิยมจัดงานให้เสร็จในวันเดียว ซึ่งพิธีแต่งงานแนวประหยัด ที่นำมาเสนอในที่นี้มี 4 แบบ ให้เลือก คือ

          แบบที่ 1 เป็นการดัดแปลงโดยตัดวันสุกดิบ และจัดขั้นตอนในทางปฏิบัติให้รวบขึ้น โดยเวลาเช้านิมนต์พระสงฆ์ มาเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นคู่บ่าวสาวตักบาตร เลี้ยงพระ เป็นเสร็จพิธีสงฆ์ ช่วงบ่ายฝ่ายเจ้าบ่าวจัดขบวนขันหมาก มายังบ้านเจ้าสาว มีการเชิญขันหมากตรวจสินสอด ไหว้บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ พร้อมทั้งอาจจดทะเบียนสมรสเลยก็ได้ พอช่วงเย็น มีพิธีรดน้ำคู่บ่าวสาว เพื่อเป็นการประหยัด อาจเชิญประธานเพียง 1 ท่าน เป็นผู้รดน้ำและเจิมคู่บ่าวสาว จะนำของชำร่วยแจกผู้ร่วมงาน พอถึงช่วงกลางคืน บิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ ก็จะทำพิธีปูที่นอน และทำพิธีส่งตัวเจ้าสาว พร้อมทั้งมีการให้โอวาท และอวยพรตามธรรมเนียมเป็นอันเสร็จพิธีแต่งงาน

          แบบที่ 2 ฝ่ายเจ้าบ่าว จะจัดขันหมากมายังบ้านเจ้าสาว พร้อมทำบุญตักบาตร แล้วจดทะเบียนสมรสในช่วงเช้า ต่อจากนั้นในช่วงบ่าย ก็จัดพิธีรดน้ำและเลี้ยงอาหารแก่แขก ซึ่งจะเป็นอาหารว่าง หรืออาหารเย็น ก็แล้วแต่ความเหมาะสม พอช่วงกลางคืน ก็จะมีพิธีส่งตัวเจ้าสาว โดยมีพิธีปูที่นอน แล้วให้โอวาท และอวยพรแก่คู่บ่าวสาว โดยบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่

          แบบที่ 3 ในช่วงเช้าคู่บ่าวสาวจัดถวายสังฆทาน แล้วร่วมกันตักบาตรที่หน้าบ้านหรือที่วัด ต่อจากนั้นมีพิธีรดน้ำ หรือผูกข้อมือ จดทะเบียนสมรส ซึ่งก็มีเฉพาะญาติผู้ใหญ่ของคู่บ่าวสาวเท่านั้นที่มาร่วมพิธี เสร็จแล้วช่วงเที่ยง มีการเลี้ยงอาหาร ซึ่งอาจจัดใน หรือนอกสถานที่ก็ได้ตามสะดวก ส่วนการส่งตัว เป็นการจัดภายในเท่านั้น เป็นอันเสร็จพิธี

          แบบที่ 4 ช่วงเช้า เจ้าบ่าวเจ้าสาวถวายสังฆทาน หรือตักบาตรที่หน้าบ้านหรือที่วัด ต่อจากนั้น บิดามารดา พร้อมทั้งญาติผู้ใหญ่ ที่ใกล้ชิดจะรดน้ำอวยพรหรือผูกข้อมือ แล้วไปจดทะเบียนสมรสเป็นเสร็จพิธี หรือในกรณีที่ต้องการให้กระชับที่สุด ก็อาจมีเพียงถวายสังฆทาน แล้วไปจดทะเบียนสมรสเลยก็ได้

เมื่อเลือกรูปแบบงานพิธีได้แล้วก็ต้องมาดูกันต่อล่ะว่าจะจัดพิธีกันที่ไหน ถ้าตามสมัยนิยมก็มักจะจัดงานพิธีและงานเลี้ยงวันเดียวกันไปเลยเพราะว่าจะสะดวกมากกว่า ทางโรงแรมหรือสถานที่สำหรับจัดงานก็มักจะมีเครื่องใช้ต่างๆที่จำเป็นสำหรับงานพิธีอยู่แล้ว อย่างพวกชุดพานใส่แหวน พานรดน้ำ และพานพิธีอื่นๆไว้ให้ยืม แต่ถ้าใครต้องการเพิ่มมากกว่านั้น อย่างพวกพานขนมไทย ประเภท ทองหยิบ ทองหยอด จ่ามงกุฏ รวมไปถึงพวงมาลัย และของขวัญสำหรับรับไหว้ก็อาจจะลองสอบถามดูว่าทางโรงแรมนั้นๆมีให้ด้วยหรือว่าต้องหาซื้อเอง เก๋เคยเห็นร้านขนมไทยในตลาด อตก. รับสั่งทำพวกพานพิธีต่างๆนะคะ มีจัดชุดแบบสำเร็จรูปให้เลือกหลายแบบ หลายราคาตามความต้องการ

Unique-Wedding-Ceremony-Seating-Ideas-Indoor-Or-Outdoor-0010

ส่วนใครที่คิดว่าเชิญแขกจำนวนไม่มากนัก และอยากจะประหยัดงบประมาณไปใช้ในส่วนอื่นๆ อาจจะลองดูว่าจะจัดงานพิธีตอนเช้าที่บ้าน แล้วค่อยไปจัดงานเลี้ยงต่อในโรงแรม หรืออาจจะรวบงานพิธีเช้ากับงานเลี้ยงไปด้วยกันให้จบภายในช่วงบ่ายเลยก็ได้ การจัดงานเลี้ยงที่บ้านนั้นอาจจะวุ่นวายเรื่องการเตรียมพานพิธี อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆสักหน่อย แต่ถ้ามีแม่งานคล่องๆพร้อมลูกทีมดีๆก็โอเคนะคะ ส่วนเรื่องของอาหารเครื่องดื่มเราอาจจะใช้ catering จากร้านอาหารจัดเป็นชุดบุฟเฟ่ต์ก็ได้เช่นกัน

La-Capanna-Restaurant-Wedding-Reception

สำหรับใครที่คิดว่าจะมีงานเลี้ยงช่วงกลางคืนในโรงแรมหรือนอกสถานที่ก็ต้องมาเลือกรูปแบบกันค่ะ

งานเลี้ยงกลางคืน ก็มีให้เลือกหลักๆ 3 แบบ คือ โต๊ะจีน บุฟเฟ่ต์ และค็อกเทล ล่าสุดบางที่ก็มีจัดเลี้ยงแบบยุโรปเพิ่มเข้ามา คือเป็นโต๊ะยาว แล้วเสิร์ฟอาหารเป็นคอร์สซึ่งแบบหลังสุดนี่ค่อนข้างเหมาะกับงานเลี้ยงเล็กๆมากกว่าค่ะ

โต๊ะจีน – แบบนี้เป็นที่นิยมชมชอบในกลุ่มผู้ใหญ่ๆ เพราะง่ายที่สุด แค่นั่งเฉยๆก็มีอาหารมาเสิร์ฟถึงที่ไม่ต้องลุกไปตักให้เหนื่อย และที่สำคัญบางงานก็จะมีอาหารจานโอชะอย่างหมูหัน เป็ดปักกิ่งมาให้อิ่มอร่อยกันด้วย ในทางกลับกันการจัดงานแบบโต๊ะจีนก็ถือว่าเป็นแบบที่ต้องใช้งบค่าอาหารต่อคนค่อนข้างสูงด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นใครจะจัดแบบนี้ก็ลองจัดสรรงบให้ดี เท่าที่เห็นตอนนี้ราคาต่อโต๊ะจะอยู่ที่ประมาณ 12,000++ ขึ้นอยู่กับเมนูอาหาร และความหรูของสถานที่

บุฟเฟ่ต์ – ช่วง 4-5 ปีให้หลังมาการเลี้ยงแบบบุฟเฟ่ต์เป็นที่นิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าการเลี้ยงแบบบุฟเฟ่ต์นั้นจะรองรับจำนวนแขกได้มากกว่าแบบโต๊ะจีนในงบประมาณที่เท่ากัน .. โดยประมาณในท้องตลาดตอนที่อยู่ที่ 800-1,000  แต่ที่หรูๆบางที่ก็แพงกว่านี้ ก็ต้องลองเทียบดูว่ารายการอาหารนั้นมีให้มาก-น้อยแค่ไหน เคยไปงานแต่งเพื่อนคนนึงมีทั้งอาหารไทย-จีน-ฝรั่ง ละลานตาไปหมด แค่ไปเลือกเมนูที่ชอบแล้วถือกลับมาทานที่โต๊ะ คล้ายๆเวลาเราทานข้าวในโรงอาหารสมัยเด็กๆ หรือทานข้าวตาม food centre ต่างๆนั่นแหละ จริงๆแล้วเก๋ว่าแบบบุฟเฟ่ต์ก็ดีเหมือนกัน เพราะแขกแต่ละคนชอบทานแต่ละเมนูมาก-น้อยไม่เท่ากัน เค้าก็จะได้เลือกตักในเมนูที่เข้าชอบมากในปริมาณที่มากหน่อย เมนูไหนไม่ปลื้มก็ไม่ต้องตักมาจะได้ไม่เหลือทิ้งด้วย

ค็อกเทล – งานที่ต้องการจุปริมาณแขกมากขึ้นในพื้นที่ที่จำกัดโดยมากก็ต้องจัดแบบนี้ เพราะเป็นการประหยัดพื้นที่ได้มากที่สุด อาหารที่มีให้เลือกนั้นส่วนมากจะเป็นแบบปรุงสำเร็จมาแล้วในภาชนะเล็กๆ รูปแบบโต๊ะก็มักจะเป็นโต๊ะกลมสูงแบบยืนทาน ซึ่งตรงนี้แหละเป็นข้อจำกัดนึงและไม่เหมาะกับการเสิร์ฟอาหารบางเมนูที่ต้องใช้พื้นที่เยอะๆ อย่างจะมาแงะปูนึ่ง กุ้งเผาก็คงจะไม่ใช่ โดยมากเมนูที่มากับค็อกเทลก็มักจะเป็นถ้วยเล็กๆ หรืออาจจะใส่แก้วสวยงาม แขกคนไหนทานไม่อิ่มก็อาจจะต้องเติมหลายรอบกันหน่อย ใครที่แขกผู้ใหญ่เยอะๆควรเลี่ยงการจัดแบบค็อกเทลนะคะ เพราะอย่าลืมว่าแขกจะต้องยืนเกือบตลอดงาน 2-3 ชั่วโมง เดี๋ยวจะกลายเป็นได้ฟังเสียงบ่นหลังงานแทนที่จะเป็นรอยยิ้ม

 

พร็อพ และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ 

เมื่อเลือกได้แล้วว่าช่วงเช้าและกลางคืนเราอยากจัดรูปแบบไหน ก็เริ่มมาดูจำนวนแขกที่จะเชิญและงบฯค่าสถานที่ที่เตรียมไว้ให้สอดคล้องกัน แนะนำว่าตอนที่คุยกับทางโรงแรมหรือสถานที่ที่จะจัดนั้นควรถามให้เรียบร้อย ว่าทางเค้าจะ support อุปกรณ์ส่วนไหนให้เราได้บ้าง ส่วนมากแพคเกจมักจะมาพร้อมกับห้องพักบ่าว-สาว 1 คืน พร้อมอาหารเช้า กับพร็อพบางอย่าง เช่น backdrop นำแข็งแกะสลัก ซุ้มดอกไม้ ช่อดอกไม้ของเจ้าสาว สมุดอวยพร และพวกเข็มกลัดดอกไม้เป็นหมากบังคับเตรียม ไว้ให้เราอยู่แล้ว แต่ถ้าเราดูแบบของเค้าแล้วไม่ชอบก็ต้องลองถามดูว่าสามารถสั่งดอกไม้ หรือพร็อพอื่นๆจากข้างนอกเข้ามาได้รึเปล่า? โดยมากถ้าเรานำพร็อพ หรือดอกไม้มากจากข้างนอกเราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับโรงแรมเพิ่มเติมไป อีก ก็อาจจะงบฯบานปลายไปไกลได้เหมือนกันเพราะฉะนั้นต้องคิดคำนวณให้ดีๆ

 

จอภาพ

อันนี้สำคัญมาก บ่าว-สาวที่จะฉาย presentation ต้องเช็คกับทางโรงแรมหรือ organiser ให้ดีว่าเค้ามีจอภาพให้รึเปล่า? จริงๆส่วนมากถ้าเป็นโรงแรมหรือสถานที่จัดเลี้ยงเป็นประจำก็จะมีให้อยู่แล้วล่ะ แต่ยังไงก็ควรเช็คด้วยว่าเป็นจอแบบไหน จอทีวี หรือจอ projector โดยมากสถานที่ประเภทโรงแรมจะมีให้ แต่ถ้าเป็นพวกสถานที่ outdoor ทั้งหลายก็อาจจะมีหรือไม่มีให้ก็ได้ ก่อนวันงานก็ควรจะเอาแผ่นไปลองเปิดดูว่าเปิดได้ไม๊ มีอะไรติดขัดรึเปล่า จะได้ไหวตัวแก้ไขทันก่อนวันงาน

Belcea21

ดนตรี

มีวงดนตรีมาให้หรือเปล่า? หรือว่าเราจะเปิดแผ่นซีดีแทน? บางที่ที่ไม่มีวงดนตรีให้ในแพคเกจก็อาจจะมีลิสต์วงดนตรีมาให้เราเลือกช้อปได้ ก็ต้องลองดูว่าเพลงที่จะเล่นในงานจะเป็นเพลงแนวไหน ต้องใช้นักร้องหรือไม่ ถ้าเราจ้างวงดนตรีมาแล้วก็อย่าลืมเช็คเรื่องเครื่องเสียงพวกไมโครโฟน ลำโพง equalizer ต่างๆด้วยว่าทางสถานที่เค้ามีให้ยืมรึเปล่า? หรือทางวงดนตรีที่เราจ้างมาเค้ามีมาให้เราพร้อมเลยไม๊? เพราะถ้าโรงแรมหรือสถานที่ไม่มีให้ยืมเราอาจจะต้องเช่าจากข้างนอกเพิ่มเติมเข้ามาด้วย

 

จำนวนแขก

เรื่องการเชิญแขกนี่เป็นเรื่องปวดหัวอีกเรื่องที่อยู่ใน top list งานแต่งงานกันเลยทีเดียว จำนวนแขกจะมาก-น้อยส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับ connection ของทั้งบ่าว-สาว และครอบครัวของบ่าว-สาวด้วยเช่นกัน คำแนะนำง่ายๆจากเก๋คือ ควรจะลิสต์ชื่อแขกของแต่ละคนออกมาใส่ไฟล์ excel ไว้เลยค่ะ ญาติสนิท เพื่อนรักร่วมแก๊งค์ เพื่อนร่วมรุ่น เพื่อนที่ทำงาน แขกฟากเจ้าบ่าว แขกฝั่งเจ้าสาว พอลิสต์ชื่อออกมาแล้วลองจัดลำดับ 1st list กับ 2nd list ไว้ด้วยก็ดี ส่วนหนึ่งเก๋เชื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องเชิญทุกคนมาร่วมงาน และในทางกลับกันก็คงเป็นไปได้ยากที่ทุกๆคนที่เรารู้จักจะสะดวกมางาน เพราะฉะนั้นพอทำลิสต์ออกมาแล้วลองนับจำนวนแขกแล้วประเมิน budget ในการจัดงานที่เราเตรียมไว้ดูว่าสมดุลย์กันรึเปล่า? ถ้าแขกมากเกินไปก็ลองปรับลิสต์ใหม่ให้เหมาะสม และที่สำคัญการลิสต์จำนวนแขกจะช่วยให้เราไม่จองพื้นที่ใหญ่เกินไป และไม่สั่งอาหารมากเกินไปด้วยนะคะ สิ่งหนึ่งที่ควรท่องให้ขึ้นใจสำหรับการสั่งจำนวนอาหารในงานคือ ขาดก็สามารถสั่งเพิ่มได้ แต่ถ้าเหลือคือทิ้งสถานเดียว

 

oHLa’s tips

หลายๆโรงแรมที่เก๋ลองเช็คข้อมูลมาเค้าจะทำเป็นแพคเกจซึ่งโดยมากจะระบุจำนวนแขกขั้นต่ำ หรือไม่ก็ระบุว่าขั้นต่ำสำหรับค่าจัดงานจะต้องมีจำนวนเท่าไหร่ ในแพคเกจก็อาจจะพ่วงเค้กแต่งงาน การจัดเวทีรวมถึงดอกไม้ในงาน น้ำแข็งแกะสลัก backdrop หน้างานแบบง่ายๆ ห้องแต่งตัว ห้องพักคู่บ่าว-สาว ฯลฯ สำหรับคู่ที่พอจะมีไอเดียและเวลา แนะนำว่าให้ลองปรับ option จากเดิมที่โรงแรมแถมมาให้จะดีกว่า เพราะอย่าลืมว่าคุณยังต้องจ่ายเงินกับค่าชุด ค่าแหวน และค่าจุกจิกอื่นๆไม่ใช่น้อยๆเลยนะคะ ส่วนไหนที่เค้าไม่แถมมากับแพคเกจแล้วถ้าไม่จำเป็นก็แนะนำให้ตัดใจตัดออกแล้วใช้งบตรงนั้นกับสิ่งอื่นที่จำเป็นมากกว่าเถอะค่ะ เท่าที่ลองสำรวจกับเพื่อนผู้มีประสบการณ์หลายท่านการจัดงานแต่งงาน 1 งานนี่ใช้งบฯกันไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทนะคะ ไหนจะค่าสถานที่ ค่ารับรองแขก ค่าชุด ค่าช่างแต่งหน้าทำผม ค่าช่างภาพ ค่านักดนตรี ค่าการ์ดเชิญ ของชำร่วย ค่าตบแต่งอื่นๆอีกสารพัด ลองประเมินและคำนวนดูดีๆค่ะว่าอะไรที่เราไหวและเหมาะสมกับเราที่สุด 🙂