
ป้ายกำกับ
oHLa’s Journal :: บันทึกมนุษย์แม่ ตอนที่ 2 ตรวจเลือดแม่ ดูโครโมโซมลูก
แน่นอนว่าในทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้นค่อนข้างแนะนำให้ผู้หญิงเรามีลูกก่อนอายุ 35 ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพที่อาจจะส่งผลต่อทั้งลูกและแม่ เมื่ออายุมากแน่นอนว่าภาวะความเสี่ยงต่างๆก็มากขึ้นตาม เรื่องฮอตฮิตติดอันดับหนึ่ง ก็คือ ความเสี่ยงต่อภาวะดาวน์ซินโดรม
ข้อมูลจากเวป หาหมอ.com เราจะเห็นว่าเมื่อแม่มีอายุเพิ่มขึ้นก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าแม่อายุมากแล้วจะต้องมีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมกันทุกคน
ความเสี่ยงของการที่แม่คนหนึ่งจะผลิตไข่ที่ผิดปกติและมีลูกที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ขึ้นกับอายุ อายุแม่ที่มากขึ้น ก็จะยิ่งมีโอกาสมีลูกเป็นโรคนี้มากขึ้น โดยเฉลี่ย คือ
• แม่ที่อายุ 25 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 1,250 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (0.08%)
• แม่ที่อายุ 30 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 1,000 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (0.1%)
• แม่ที่อายุ 35 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 400 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (0.25%)
• แม่ที่อายุ 40 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 100 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (1%)
• แม่ที่อายุ 45 ปี ถ้าตั้งครรภ์ 30 คน จะมีโอกาสมีลูกเป็นกลุ่มอาการดาวน์ 1 คน (3.3%)
การป้องกันหลักๆก็คือการตรวจความพร้อมก่อนมีบุตรในขั้นต้น คุณหมอก็จะสอบถามประวัติของเราทั้งคู่ก่อนว่าในครอบครัวย้อนไปมีใครมีประวัติการเป็นดาวน์ซินโดรม รวมถึงโรคสำคัญๆต่างๆที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ และเมื่อตั้งครรภ์แล้วคุณหมอจะแนะนำให้ตรวจคัดกรองภาวะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะตรวจด้วยวิธีการเจาะน้ำคร่ำ หรือตรวจจากการเจาะเลือดคุณแม่ก็ได้ตามแต่ความเหมาะสมและงบประมาณฯ
แน่นอนว่าการเจาะเลือดจะแพงกว่า แต่สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 9-10 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนการเจาะน้ำคร่ำนั้นจะให้ผลที่แม่นยำมากกว่าการเจาะเลือดในหลักทศนิยม สามารถตรวจได้ที่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ขึ้นไป
ตอนนั้นเก๋ก็ชั่งใจอยู่พักใหญ่ว่าจะเลือกตรวจแบบไหนดี? เพราะถ้าตรวจด้วยการเจาะเลือดแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูง เราก็ต้องตรวจด้วยการเจาะน้ำคร่ำเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกเจาะเลือดก่อนดีกว่า เพราะฟังจากเพื่อนที่เคยเจาะน้ำคร่ำมาแล้วก็อดกลัวเข็มยาวๆจิ้มพุงไม่ได้ แล้วก็คิดว่าตัวเองและสามีก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงล่ะน่า
พอบอกคุณหมอว่าเลือดที่จะเจาะเลือด (NIPT) คุณหมอก็จะให้ข้อมูลเบื้องต้นว่ามีตัวเลือกอะไรบ้าง ทั้ง nifty, panorama, verify และอื่นๆ ซึ่งในแต่ละโรงพยาบาลอาจจะมีตัวเลือกที่แตกต่างกันไปก็ต้องลองสอบถามกันดูค่ะ ส่วนของเก๋นั้นตัดสินใจเลือกของ panorama ณ ตอนนั้นสนนราคาอยู่มี่ประมาณ 17,xxx.- ซึ่งเราจะต้องโอนเงินให้กับทางบริษัทฯโดยตรงไม่ได้จ่ายผ่านโรงพยาบาล
ซึ่ง panorama นั้นนอกจากจะตรวจดูเพศของทารกแล้ว ก็จะตรวจโครโมโซมอีก 3 คู่ด้วยกันคือ คู่ที่ 13, 18 และ 21 ซึ่งหากโครโมโซมคู่ไหนที่เกิน (trisomy) ก็จะบ่งบอกถึงภาวะผิดปกติของทารกได้ ใช้ระยะเวลาในการตรวจและแจ้งผลประมาณ 2 สัปดาห์ โดยส่งตัวอย่างเลือดของเราไปตรวจที่แล็ปในอเมริกา
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ความผิดปกติของโครโมโซมที่สำคัญ” ได้ที่ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หน้าตาของผลทดสอบที่ได้กลับมาก็จะประมาณนี้
คือนอกเหนือจากจะตรวจโครโมโซมคู่ที่ 13, 18 และ 21 แล้วก็ยังสามารถตรวจเพศ และครรภ์แฝด รวมไปถึง monosomy X ได้ด้วย
พอรู้ผลว่าทุกอย่างโอเคแล้วก็โล่งใจ คุณหมอก็ให้ทานวิตามินเสริมต่อไปเรื่อยๆ เป็นวิตามิน A-Z สำหรับคนที่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะ พอขึ้นไตรมาสที่สองก็เพิ่มแคลเซียมเสริมเข้าไปอีกหนึ่งอย่าง เพราะว่าเป็นช่วงที่ตัวอ่อนเริ่มสร้างกระดูกแล้ว นอกจากนี้ก็มีสารสกัดจากมะขามป้อมสำหรับบรรเทาอาการท้องผูกด้วย
สำหรับคนที่มีคำถามว่าการตรวจ NIPT ของแต่ละยี่ห้อแตกต่างกันยังไง … คือพื้นฐานสำคัญๆจะเหมือนกันหมดค่ะ ความแตกต่างเล็กน้อย อย่างเช่น อายุครรภ์ที่สามารถตรวจสอบได้ แล็บที่ทดสอบ การตรวจเพศทารก ค่าความแม่นยำที่ต่างกันเพียงจุดทศนิยม ซึ่งต่างๆเหล่านี้ก็อาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปด้วย
ใครที่คิดว่าจะตรวจเลือดดูความปกติของตัวอ่อนก็ลองปรึกษาคุณหมอที่เราฝากครรภ์ดูอีกครั้งด้วยนะคะ หวังว่าเนื้อหาในบล็อกนี้จะมีประโยชน์กับเพื่อนๆค่ะ
🙂