Office Syndrome โรคยุคใหม่ที่หลายๆคนต้องเผชิญ

ในบล็อกนี้เก๋หยิบเอาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลตัวเองจาก office syndrome จากแผ่นพับมาพิมพ์ลงบล็อกให้เพื่อนๆได้อ่านกัน

เชื่อว่าหลายคนอาจจะกำลังประสบปัญหาเดียวกันนี้เหมือนกับเก๋

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆนะคะ 🙂

—————————

Office Syndrome ดูแลอย่างตรงจุดได้ด้วยตัวคุณเอง

60-70% ของกลุ่มคนในวัยทำงาน ประสบปัญหานี้ ซึ่งส่งผลสำคัญต่อสุขภาพ ประสิทธิภาพในการทำงาน ค่ารักษาพยาบาล คุณภาพชีวิตและความก้าวหน้าของบุคลากรเอง

สาเหตุของ Office Syndrome นั้นเกิดขึ้นจากการนั่งทำงานในท่าที่ไม่เป็นธรรมชาติ มีการจัดโต๊ะทำงานและเก้าอี้นั่งอย่างไม่เหมาะสม การอยู่ในท่าเดียวนานๆ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต หลายชั่วโมงติดต่อกัน เป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดเดียวต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นหดตัว ขมวดกัน เมื่อไม่ได้พักหรือออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อยืดตัว และยังใช้งานต่อในท่าเดิมๆ กล้ามเนื้อยิ่งหดเข้าไปจนเกิดเป็นก้อนแข็ง ไม่มีความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นการบาดเจ็บ และอักเสบของกล้ามเนื้อชนิดหนึ่งที่ไม่ควรละเลย

back pain

อาการของ Office Syndrome

  • เมื่อยคอ บ่า และไหล่
  • ตาพร่ามัว หรือแสบตา
  • ปวดหลัง ปวดแขน
  • แขน หรือขาอ่อนแรง
  • ตึงหรือขยับแขนและไหล่ได้น้อยลง
  • ขาบวมจากการนั่งนาน
  • ตะคริว
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
  • อาการด้านทางเดินอาหาร
  • ปวดท้องเนื่องจากความเครียด
ป้องกันการเกิด office syndrome ง่ายๆด้วยตัวเอง
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ในที่ทำงานดังต่อไปนี้ มีความสำคัญมากในการป้องกันและบรรเทาอาการ office syndrome ที่สาเหตุ
  • ทุก 1-2 ช.ม. ควรพักจากการทำงาน 2-3 นาที
  • ทำงานผสมหรือสลับ เช่น งานหน้าจอ งานจัดเอกสาร หรือ อื่นๆร่วมกัน
  • เหยียดกล้ามเนื้อในระหว่างวัน เช่น ก่อนเลิกงาน วิธีง่ายๆ ก็ คือการบีบนวดต้นคอ ยืดกล้ามเนื้อคอ หรือเอียงซ้าย-ขวา ก้มและเงยหน้า ฯลฯ แต่ละท่าควรทำค้างไว้สัก 10 วินาที เพื่อให้กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นยืดตัวได้
  • ควรนั่งเก้าอี้ให้เต็มเก้าอี้ ซึ่งสาวออฟฟิศส่วนใหญ่ชอบนั่งแค่ครึ่งหรือปลายเก้าอี้ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม อย่า กำ เกร็ง อุปกรณ์ต่างๆ
  • ฝึกการใช้งาน การพิมพ์ให้คล่อง ฝึกการใช้แป้นลัดในการเข้าถึงคำสั่ง
credit: weizmann.ac.il

credit: weizmann.ac.il

นอกจากนี้การจัดที่นั่งที่ดีจะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการต่างๆได้มาก โดยจุดหลักของการจัดท่านั่งในการทำงานที่เหมาะสมคือ ต้องปรับระดับจอคอมพิวเตอร์ให้ขอบตามองแล้วได้ระดับเดียวกับขอบบนของจอคอมพิวเตอร์ รวมถึงต้องมีที่รองรับแขนซึ่งจะเป็นการช่วยไปถึงไหล่ และต้องมีที่รองรับเท้าด้วย
การรักษาโรค office syndrome
1. รักษาด้วยวิธีทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู และการทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อ และปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง
2. การรักษาด้วยศาตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม และ การนวดแผนไทย
3. การรักษาด้วยยา
การรักษาด้วยยา แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ยารับประทาน และยาทาเฉพาะที่
ยารับประทาน
โดยทั่วไปจะใช้เมื่อมีอาการปวด หรืออักเสบมาก หรือในกรณีที่อาการที่เกิดขึ้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิต ผู้มีอาการควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยา เพื่อเลือกยาที่เหมาะสมกับสาเหตุและอาการของตนเอง
ยารับประทานที่ใช้บ่อย มี 4 กลุ่ม คือ
  • ยาแก้ปวดและต้านการอักเสบ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ (muscle relaxants)
  • ยาแก้ปวดที่ไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เช่น พาราเซตามอล
  • ยาคลายกังวล
ยาทาเฉพาะที่
มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ครีม เจล น้ำมัน ซึ่งมีส่วนผสมและการออกฤทธิ์ต่างๆกันดังนี้
  • ยาทาที่ลดการระคายเคือง (Counter-Irritant)

ทำให้เกิดความรู้สึกร้อน หรือเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวด มักมีส่วนผสมของแคปไซซิน(พริก) และ เมนทอล เป็นต้น แต่หากการปวดนั้นมีการอักเสบด้วย การใช้ยาทาเฉพาะที่ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบจะช่วยบรรเทาอาการฯได้ดีกว่า

  • ยาทาบรรเทาอาการปวด และอักเสบที่กล้ามเนื้อ (Topical NSAIDs)

มีส่วนผสมของยาแก้ปวดและต้านการอักเสลบ เช่น ไอบูโพรเฟน ซึ่งสามารถใช้ได้กับทั้งอาการปวดแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง

อย่างไรก็ตามควรระลึกไว้เสมอว่า การรักษาด้วยวิธีต่างๆเหล่านี้จำเป็นต้องทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และอิริยาบถในการทำงานให้ถูกต้อง เช่นเดียวกับการป้องกันการเกิดอาการ รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้อาการของ office syndrome มาคุกคามคุณภาพชีวิต และประสิทธิภาพในการทำงานอย่างถาวร
credit
บทความโดย ผศ.นพ. วิศาล คันธารัตนกุล ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ร.พ. สมิติเวช ศรีนครินทร์
จัดทำและเผยแพร่เอกสารโดย Reckitt Benckiser (Thailand) Ltd.